วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประพฤติธรรม นำโลกให้ร่มเย็น

                                               
             กลอนสอนใจ
การประพฤติ                 ตามธรรม                  คำพระสอน
ไม่เดือดร้อน                ถอนทุกข์                    ยามฉุกเฉิน
คนรักธรรม                 ธรรมรักษ์คน              ผลเจริญ
นั่ง,ยืน,เดิน นอน        นำโลกให้ร่มเย็น.
           ธรรม คือ   หน้าที่ที่เราควรทำนั่นแหละคือ ธรรมะ  การทำงานให้ถูกต้องตามหน้าที่คือ การปฏิบัติธรรม  อย่าเข้าใจผิด ๆ ว่า        การงานอยู่ที่บ้าน ธรรมะอยู่ที่วัด  ที่ใดมีหน้าที่การงานที่ถูกต้อง ที่นั่นแหละมีธรรมะในโบสถ์อาจจะไม่มีธรรมะ ในทุ่งนา       ในออฟฟิด อาจมีธรรมะอย่างมากมายก็ได้ธรรมะนั้นเป็น สภาพที่ทรงไว้สำหรับผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกต่ำไปในทางที่ชั่ว      ใครบ้างเล่าอยากตกไปในทางที่ชั่ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า "จะเป็นคนเจริญหรือเป็นคนเสื่อมก็รู้ได้ง่าย          ผู้ชอบธรรมะ เป็นผู้เจริญ  ผู้ชังธรรมะ เป็นผู้เสื่อมธรรมะ คือ หน้าที่                             
              ผู้เจริญ คือ ผู้รักหน้าที่ ผู้เสื่อม คือ    ผู้ชังหน้าที่ นักเรียนที่เรียนเก่ง ก็เพราะเขารักหน้าที่ รักการเรียน  เขาจึงเจริญในเรื่องการเรียน       คนที่ทำงานเก่งก็เพราะเขารักการงาน  มีธรรมะของผู้นำ ของผู้ทำการงาน       การทำความดี เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของมนุษย์ ผู้ที่รักที่จะทำความดีจึงเป็นมนุษย์ที่ดี มั่งคั่ง พรั่งพร้อมไปด้วยความดี        ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร เขาต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ขอให้สำนึกอยู่เสมอ ๆ ว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น              เป็นของยาก ยากอย่างไร        ขอให้นึกเปรียบเทียบดู กับ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเถิดว่า มันมีจำนวนท่วมท้นกว่าจำนวนของ มนุษย์มากมายเพียงใด
พระพุทธเจ้าเกิดในโลกเพื่อประกาศสัจธรรม" เช่นคำว่า ธรรม หมายถึงกฏธรรมดา (
Law of Nature)
เช่นว่า ทุกข์ต้องเกิดมาจากสิ่งนั้น ความดับทุกข์มีได้เพราะสิ่งนั้นหรือว่า สิ่งทั้งปวงต้องเป็นอย่างนั้นๆ เป็นต้น.      หน้าที่ของเรา คือต้องทำตัวให้เข้ากันได้กับกฏนั้นบ้าง รู้จักนำเอากฏนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์บ้าง
ธรรมเป็นสากลนิยม ปฏิบัติได้ไม่จำกัดกาล และตำแหน่งแห่งหน
                  การประพฤติธรรม คือ การประพฤติตนเองอยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของตนเองให้ดีและมีความเที่ยงธรรม โดยไม่ลำเอียง เรียกว่า การประพฤติธรรม จัดเป็นมงคลชีวิต เพราะว่าการประพฤติธรรมนับเป็นการปรับปรุงให้พร้อม พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันกับคู่ครองและครอบครัว เพื่อจะให้เกิดความสงบ ความร่มเย็นเป็นสุข จะได้ไม่นำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่น
  เว้นจากการฆ่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ มีคุณหรือไม่มีคุณหรือมีโทษก็แล้วแต่ไม่ควรฆ่าทั้งสิ้น รู้จักแก้ไขโดยชอบ 
  เว้นจากการลักทรัพย์ หมายถึง ไม่แสวงหารายได้โดยทุจริต รู้จักทำมาหากินในทางที่ถูกที่ควร  
 เว้นจากการประพฤติในกาม คือ ไม่ลุแก่อำนาจความกำหนัด มีจิตใจสูงไม่ใฝ่ต่ำ เพราะเคารพในสิทธิของผู้อื่น
 เว้นจากการพูดเท็จ คือ มีความสัตย์จริง กล้าเผชิญหน้าต่อความจริง กล้าพูดจริง ถือสัจจะเป็นชีวิต
ไม่พูดส่อเสียด คือ ไม่ยุแหย่ให้เขาแตกกัน ไม่แสวงหาความชอบด้วยการประจบสอพลอ
 เว้นจากการกล่าวคำหยาบ คือ รู้จักสำรวมวาจาของตน สำรวมในที่นี้หมายถึงไม่ก่อความระคายหูให้แก่ผู้อื่นด้วยคำพูด
 เว้นจากการพูดจาเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ไร้แก่นสาร คือ ไม่พูดจาเหลวไหลพล่อยๆ จะไม่ยอมพูดอะไรพล่อยๆ เพราะว่ามีความรับผิดชอบในคำพูดของตนเองทุกคำ คนมีความรับผิดชอบในคำพูดของตัวเองทุกคำจะทำให้เกิดความสำรวม ไม่พูดพล่อยๆ ทำได้บอกว่าทำ ทำไม่ได้อย่ารับปาก
ไม่โลภอยากได้ของของเขา หมายถึง ไม่เพ่งเล็งที่จะเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ว่าทางใดทั้งสิ้น โดยเฉพาะทางทุจริต เพราะมีความเคารพสิทธิของเขา
ไม่พยาบาทปองร้าย หมายถึง ไม่ผูกใจเจ็บไม่จองเวร เพราะว่าจะทำให้มีจิตใจเบิกบานแจ่มใสไม่ขุ่นมัว ไม่เกลือกกลั้วด้วยโทสจริต
 ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม คือ ไม่คิดแย้งกับหลักธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล เห็นเหตุตรงกับผล รู้จักเหตุ รู้จักผลอยู่ตลอดเวลา
อานิสงส์ของการประพฤติธรรม มี ๑๐ ประการ คือ
๑) เป็นมหากุศล
๒) เป็นผู้ไม่ประมาท
๓) เป็นผู้รักษาสัจธรรม
๔) เป็นผู้ส่งเสริมศาสนาให้เจริญ
๕) เป็นสุขได้ทั้งปัจจุบันชาติและอนาคตชาติ
๖) ไม่ก่อเวรก่อภัยแก่ใครๆ
๗) เป็นผู้มีจิตใจเมตตาเป็นที่ตั้ง
๘) เป็นผู้มีปฏิปทาตามบัณฑิต (เดินทางตามบัณฑิต)
๙) สร้างความสงบสุขให้กับตนเองและผู้อื่น
๑๐) เป็นผู้เดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ เทวดา และพระอรหันต์
    


   เพราะฉะนั้น    ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข และนำโลกให้ร่มเย็นได้   เพราะพระธรรมจะเป็นเครื่องป้องกันผู้ที่นำหลักคำสอนไปปฏิบัติย่อมไม่ตกต่ำหรือ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความชั่ว เพราะผลกรรม พระพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องของกรรม กรรมในที่นี้หมายถึงการกระทำ มนุษย์เรา จะดีหรือชั่วไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด แต่อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ
                     ผู้ที่ประพฤติธรรม ประพฤติตนเป็นคนดีมีศีลธรรม ก็สามารถนำโลกให้ร่มเย็นน่าอยู่ น่าอาศัย โลกไม่เดือดร้อน โลกไม่วุ่นวาย เพราะคนประพฤติธรรม มีศีลธรรมประจำใจ